วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกแนวโน้มโตต่ำ จับตาส่งออกฟื้นตัวเปราะบาง

05 เมษายน 2567
วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกแนวโน้มโตต่ำ จับตาส่งออกฟื้นตัวเปราะบาง

วิจัยกรุงศรี เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตต่ำ แม้ได้รับหนุนภาคการท่องเที่ยว-รายได้ท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว จับตาการฟื้นตัวของภาคส่งออกยังเปราะบาง หลังตัวเลข 2 เดือนขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ มองทั้งปีมีโอกาสโตต่ำกว่า 2.5% เหตุเผชิญปัจจัยโครงสร้างภาคการผลิตอ่อนแอ

วันที่ 2 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า เศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ฟื้นกระจุกตัวที่ภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทำให้โดยภาพรวมแล้วยังเติบโตต่ำ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ได้แรงหนุนจากกิจกรรมในภาคบริการที่ขยายตัวตามภาคการท่องเที่ยว โดยทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายรับท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากเดือนก่อน (+20.1% และ +9.3% MoM sa ตามลำดับ)

ด้านการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นในบางหมวด ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ไม่รวมทองคำปรับลดลงจากเดือนก่อน (-2.9% MoM sa) รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่องทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ผลกระทบจากความล่าช้าของการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

เศรษฐกิจในช่วงสองเดือนแรกของปี 2567 ได้แรงหนุนสำคัญจากภาคท่องเที่ยวซึ่งมีสัญญาณบวกมากขึ้นทั้งทางด้านจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวเข้าใกล้สู่ช่วงก่อนเกิดโควิด (คิดเป็น 87% และ 88% ของช่วงเดียวกันปี 2562 ตามลำดับ) ปัจจัยหนุนจากมาตรการ Visa-Free แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายประเทศ อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน

อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวแม้จะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นระยะสั้นผ่านโครงการ Easy-E-Receipt ก็ตาม นอกจากนี้ เมื่อประกอบกับการหดตัวอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐจึงคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสแรกมีแนวโน้มอาจเติบโตในระดับต่ำต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 จากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ต้นเดือนเมษายนนี้

อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสู่ระดับ 400 บาท สำหรับธุรกิจโรงแรมและที่พักระดับ 4 ดาวขึ้นไป ในบางพื้นที่ของ 10 จังหวัดที่มีรายได้สูงจากภาคท่องเที่ยว มีผลวันที่ 13 เมษายนนี้ ซึ่งอาจช่วยหนุนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อให้กับแรงงานบางส่วนได้บ้างเล็กน้อย

การฟื้นตัวของภาคส่งออกยังมีปัจจัยท้าทาย แม้มูลค่าส่งออกเดือนกุมภาพันธ์จะเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 23.4 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.6% YoY (ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 4.4%) ชะลอลงจาก 10.0% ในเดือนมกราคม และหากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าส่งออกขยายตัว 2.3% โดยการส่งออกสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าว (+53.6%) ยางพารา (+31.7%) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+24.9%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (+18.0%)

ขณะที่การส่งออกในบางกลุ่มหดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-5.6%) แผงวงจรไฟฟ้า (-13.2%) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (-24.2%) และน้ำตาลทราย (-34.9%) ด้านตลาดส่งออกพบว่าขยายตัวในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป และ CLMV ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่น จีน และอาเซียน5 กลับมาหดตัว สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกขยายตัว 6.7%

แม้การส่งออกของหลายๆ ประเทศในเอเชียทยอยฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และภาวะชะงักงันของห่วงโซ่การผลิตที่คลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกเฉลี่ยอยูที่ 23.0 พันล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปีก่อนที่ 23.7 พันล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังต้องติดตามการส่งออกในเดือนมีนาคม เนื่องจากปัจจัยจากฐานที่สูงถึง 28 พันล้านดอลลาร์ อาจทำให้ส่งออกกลับมาติดลบ

นอกจากนี้ การส่งออกยังเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการผลิตไทยที่อ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดภาคการผลิตของไทยเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ในแดนหดตัว (< 50) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สวนทางกับ PMI ภาคการผลิตของโลกและอาเซียนซึ่งทยอยปรับขึ้นอยู่ในแดนขยายตัว (> 50) อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งสะท้อนว่าการผลิตของภาค อุตสาหกรรมของไทยหลายกลุ่มอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและไม่สามารถปรับตัวตอบสนองการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความต้องการสินค้าในโลก การฟื้นตัวของการส่งออกในปีนี้จึงยังมีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มที่อาจเติบโตต่ำที่ 2.5%

วิจัยกรุงศรีฯ ประเมินมูลหนี้มาตรการแก้หนี้เรื้อรังอยู่ที่ 1.2-1.8 หมื่นล้านบาท

ธนาคารโลกหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทย 2567 เหลือโต 2.8% จากครั้งก่อน 3.2%

เวิลด์แบงก์ เปิดรายงาน 5 โจทย์ใหญ่ประเทศไทย ปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจ


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.